วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ความหมายของการเรียนรู้ 

           เมื่อมนุษย์เกิดมามนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะพูดเพื่อสื่อสารกับบุคคลอื่นรอบข้าง เรียนรู้ที่จะเดิน เล่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และกระทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ การเรียนรู้เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิต นักจิตวิทยาเชื่อว่ามนุษย์มีการเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงก่อนตาย สัตว์ต่างๆ ก็ต้องเรียนรู้เช่นกัน เช่น ลิงเรียนรู้วิธีการเก็บลูกมะพร้าวและสุนัขเรียนรู้การขับถ่ายให้เป็นที่ พฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์เหล่านี้เป็นผลเนื่องมาจากการเรียนรู้ การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่สำคัญซึ่งช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ ดังนั้นบุคคลจึงจำเป็นต้องเข้าใจกระบวนการต่างๆ ของการเรียนรู้ นักจิตวิทยาและนักการศึกษาได้ให้ความหมายของการเรียนรู้ไว้ต่างๆ ดังนี้
        ครอนบาค (Cronbach. 1954) อธิบายว่าการเรียนรู้เป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลได้รับมา
        กูด (Good. 1959) อธิบายว่าการเรียนรู้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงการตอบสนองหรือการแสดงออกของพฤติกรรมแต่เพียงบางส่วนหรือทั้งหมด อันเป็นผลมาจากประสบการณ์
        ฮิลการ์ดและเบาเวอร์ (Hilgard and Bower. 1966) อธิบายว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อันเป็นผลมาจากการฝึกฝนและประสบการณ์ แต่มิใช่ผลจาการตอบสนองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น สัญชาตญาณ วุฒิภาวะ หรือจากการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวของร่างกาย เช่น ความเมื่อยล้า และพิษของยา เป็นต้น
        มอร์ริส (Morris. 1990) อธิบายว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างถาวร ซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์และการปฏิบัติฝึกฝน
         เมดนิค (กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์. 2528:126 ; อ้างอิงมาจาก Mednick. ม.ม.ป.) ได้ให้ความหมายของการเรียนรู้ไว้ดังนี้
  • การเรียนรู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
  • การเรียนรู้เป็นผลมาจาการฝึกฝน
  • การเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวรจนเกิดเป็นนิสัย มิใช่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมชั่วคราวเท่านั้น
  • การเรียนรู้มิอาจสังเกตได้โดยตรง เราทราบแต่การกระทำที่เกิดจากการเรียนรู้แล้วเท่านั้น
         กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2528:129) กล่าวว่าการเรียนรู้หมายถึง กระบวนการที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเดิมไปเป็นพฤติกรรมใหม่ที่ค่อนข้างถาวร ซึ่งเป็นผลจากการได้รับประสบการณ์หรือได้รับการฝึกฝน มิใช่เป็นผลจากการตอบสนองตามธรรมชาติหรือสัญชาตญาณ วุฒิภาวะ พิษยาต่างๆ รวมทั้งอุบัติเหตุหรือความบังเอิญ
          สุชา จันทน์เอม (2542:78) อธิบายว่าการเรียนรู้คือกระบวนการเจริญงอกงามของอินทรีย์หรือพัฒนาการของอินทรีย์ ทำให้อินทรีย์สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น หรือปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี
          สุรางค์ โค้วตระกูล (2544:185) อธิบายว่าการเรียนรู้หมายถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่คนเรามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือจากการฝึกหัด รวมทั้งการเปลี่ยนปริมาณความรู้ของผู้เรียน
          จากความหมายดังกล่าวข้างต้นสรุปได้ว่า การเรียนรู้หมายถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเดิมไปเป็นพฤติกรรมใหม่ที่ถาวร ซึ่งเกิดจากการฝึกฝนและการได้รับประสบการณ์ แต่ไม่ใช่เกิดจากสัญชาตญาณ วุฒิภาวะ หรือจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

ความหมายของผู้นำ

          ผู้นำ (Leader) คือ ผู้ที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง (Do the right thing) สร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า (Change for the better) มุ่งไปที่เป้าหมาย (Goal) และให้ความสนใจกับอนาคต (Future) ยึดเหตุผล (Why) และใช้กลยุทธ์ (Strategy) ในการทำงาน
          ผู้นำ คือ บุคคลที่จะมาประสานช่วยให้คนทั้งหลายรวมกัน จะเป็นการอยู่รวมกันก็ตาม หรือทำการร่วมกันก็ตาม ให้พากันไปด้วยดี สู่จุดหมายที่ดีงาม (โดยพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต)) นอกจากนี้ผู้นำยังมีความหมายอีกมากมาย เช่น
1) ผู้นำ หมายถึง ผู้ซึ่งเป็นศูนย์กลางหรือจุดรวมของกิจกรรมภายในกลุ่ม เปรียบเสมือนแกนของกลุ่ม เป็นผู้มีโอกาสติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นมากกว่าทุกคนในกลุ่ม มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกลุ่มสูง
2) ผู้นำ หมายถึง บุคคลซึ่งนำกลุ่มหรือพากลุ่มไปสู่วัตถุประสงค์ หรือจุดหมายที่วางไว้ แม้แต่เพียงชี้แนะให้กลุ่มไปสู่จุดหมายปลายทางก็ถือว่า เป็นผู้นำ ทั้งนี้รวมถึงผู้นำที่นำกลุ่มออกนอกลู่นอกทางด้วย
3) ผู้นำ หมายถึง บุคคลซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่คัดเลือก หรือยกให้เขาเป็นผู้นำของกลุ่มซึ่งเป็นไปโดยอาศัยลักษณะทางสังคม มิติของบุคคลเป็นฐาน และสามารถแสดงพฤติกรรมของผู้นำได้
4) ผู้นำ หมายถึง บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะบางอย่าง คือ สามารถสอดแทรกอิทธิพลบางประการอันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มได้มากที่สุด
5) ผู้นำ หมายถึง บุคคลผู้ซึ่งสามารถนำกลุ่มไปในทางที่ต้องการ เป็นบุคคลที่มีส่วนร่วม และเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการแสดง บทบาท หรือพฤติกรรมความเป็นผู้นำ

ความหมายของงานวิชาการ
     การบริหารงานวิชาการเป็นศาสตร์และศิลป์ในการจัดการศึกษาที่อาศัยหลักการกระบวนการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการ ในบทนี้จะกล่าวถึงลักษณะงานวิชาการ ได้แก่ความหมาย ความสำคัญ และขอบข่ายของงานวิชาการ โดยนำไปประยุกต์ใช้กับหลักการและกระบวนการบริหาร
ความหมายของงานวิชาการ
     งานวิชาการเป็นงานหลักที่สำคัญของสถานศึกษา ส่วนงานอื่น ๆ เช่น งานธุรการ งานบุคลากร งานอาคารสถานที่ งานสัมพันธ์ชุมชน เป็นงานสนับสนุนงานวิชาการทั้งสิ้น หน่วยงานทางการศึกษาหรือสถานศึกษาจำเป็นต้องปฏิบัติงานวิชาการให้มีความชัดเจนและมีความแข็งแกร่ง เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงภารกิจในการปฏิบัติงานที่ส่งผลต่อปัจจัยคุณภาพของผลผลิต ซึ่งมีผู้นิยามความหมายของงานวิชาการไว้
หลาย ๆ ทัศนะดังนี้
     งานวิชาการ หมายถึง  การดำเนินงานทุกชนิดเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเรียนการสอนของสถานศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับครูหรือนักเรียนก็ตาม (เอกชัย  กี่สุขพันธ์, 2527 : 7) สำหรับภิญโญ สาธร (2523 : 436) ได้ให้ทัศนะสอดคล้องกันว่า งานวิชาการหมายถึงกิจกรรมทุกชนิดในโรงเรียน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพัฒนาการสอน นักเรียน ให้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามงานวิชาการยังมีความหมายรวมกิจกรรมที่นำไปสู่การพัฒนาความรู้ ทักษะ และเจตคติ ซึ่งสุมิตร คุณานุกร (2523 : 157) ก็มีทัศนะสอดคล้องกันว่างานวิชาการในสถานศึกษาหาได้มีความหมายแคบ ๆ อย่างที่เข้าใจทั่วไปถึงการเรียนการสอนในห้องเรียนเท่านั้นไม่ แต่ยังหมายถึงกิจกรรมทุกอย่างในสถานศึกษาที่ก่อให้เกิดความรู้ ความสามารถ และทัศนคติตามความมุ่งหมายของแผนการศึกษาแห่งชาติที่กำหนดไว้
     ดังนั้น งานวิชาการเป็นงานที่รวมภารกิจหลักของหน่วยงานหรือสถานศึกษาที่บ่งบอกถึงปรัชญา จุดมุ่งหมายในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้รับบริการซึ่งได้แก่นักเรียนหรือบุคคลในชุมชนได้รับการพัฒนาตนเองด้านความรู้ เจตคติ และทักษะ ในศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการศึกษาโดยเฉพาะ งานวิชาการจึงเกี่ยวข้องกับหลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตร
       กระบวนการถ่ายทอดความรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายหรือผู้เรียน การจัดสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา การวัดผลและประเมินผล การประกันคุณภาพรวมถึงการจัดบรรยากาศเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ เป็นต้น

แหล่งการเรียนรู้ที่เหมาะสม
           แหล่งเรียนรู้ หมายถึง แหล่งข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ และประสบการณ์ ที่สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เรียนใฝ่เรียน ใฝ่รู้ แสวงหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
ความสำคัญของแหล่งเรียนรู้
          1. แหล่งการศึกษาตามอัธยาศัย
          2. แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
          3. แหล่งปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน การศึกษาค้นคว้า แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
          4. แหล่งสร้างเสริมประสบการณ์ภาคปฏิบัติ
          5. แหล่งสร้างเสริมความรู้ ความคิด วิทยาการและประสบการณ
ประเภทของแหล่งเรียนรู้
          แหล่งเรียนรู้ จำแนกตามลักษณะที่ตั้งได้ ดังนี้
          1. แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน
          2. แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น

1)      แหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียน
แหล่งการเรียนรู้  
          แหล่งการเรียนรู้หมายถึง แหล่งข้อมูลข่าวสารสารสนเทศ แหล่งความรู้ทางวิชาการ และประสบการณ์ที่สนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้แสวงหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเอง ตามอัธยาศัยอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องจากแหล่งต่างๆ เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
แหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียน 
          บทบาทของโรงเรียนต้องส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนเพื่อสนองกระบวนการเรียนการสอนและความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ของนักเรียนได้ตลอดเวลาจึงต้องจัดบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน

2)      แหล่งการเรียนรู้ชุมท้องถิ่น
       ในชุมชนต่างๆ มีภูมิปัญญาอยู่หลายด้านและบางแห่งเคยเป็นเมืองเก่ามาก่อน จึงมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชนรุ่นหลัง ได้ศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ สามารถเป็นแหล่งการเรียนรู้ได้ดี 
      แหล่งการเรียนรู้ที่ดี และมีความหลากหลายในด้านการศึกษาหาความรู้ เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี บุคคลสำคัญในท้องถิ่น และภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้ ทั้งในระบบ / นอกระบบการศึกษา และตามอัธยาศัย จากแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น สามารถนำมาจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น โดยไม่ทำให้จุดประสงค์และคาบเวลาเรียนเปลี่ยนแปลงไปจากที่กำหนดไว้ในหลักสูตร เริ่มจากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานจากแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ นำมากำหนดเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ กำหนดเนื้อหาสาระ จัดแนวทางในการจัดกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ การวัดผลประเมินผล และนำมาจัดทำเป็นแผนการสอนและนำหลักสูตรไปใช้ทั้งนี้เพื่อให้ 
(1) นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องราวของตนเอง จากแหล่งการเรียนรู้จริงในท้องถิ่น เกิดความรักความภาคภูมิใจ และสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและพัฒนาท้องถิ่นของตนได้ 

(2) นำข้อมูลพื้นฐานจากแหล่งการเรียนรู้มาจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้นักเรียนมีประสบการณ์ตรง จากแหล่งการเรียนรู้และสามารถประยุกต์ความรู้ที่ได้มาใช้ในชีวิตจริง 

(3) ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น และสามารถนำทักษะกระบวนการเรียนรู้ และ ประสบการณ์การเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ ทำให้เป็นผู้ใฝ่รู้ และเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต